วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

FAQ ปัญหาข้อกฎหมาย พรบ.นิติบุคคลอาคารชุด (Condo)

สวัสดีครับ สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว "การจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด (คอนโด)" มีบางเรื่องที่สามารถนำมาอธิบายเพิ่มเติมได้อีก ดังนี้

Q. พระราชบัญญัติอาคารชุดที่ใช้บังคับอยู่ปัจจุบันเป็นฉบับไหน

A. พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 4) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551  สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
ในบทความนี้จะอ้างอิงเลขมาตราจาก พรบ.อาคารชุดฯ ดังกล่าว นะครับ
Q. ที่มาของกรรมการนิติบุคคลฯ อาคารชุด

A. ตามมาตรา 37 ของ พรบ. กรรมการนิติบุคคล อาคารชุดต้องมีไม่น้อยกว่า 3 แต่ไม่เกิน 9 คน แต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วม หมายความว่า จะเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือ ประชุมวิสามัญ ก็ได้ แต่ในจดหมายเชิญประชุมจะต้องมีวาระเรื่องนี้ชัดเจน และมีการลงคะแนนเสียง

Q. วาระของกรรมการนิติบุคคลฯ อาคารชุด

A. ตามมาตรา 37 ของ พรบ. กรรมการนิติบุคคล มีวาระในการดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี กรณีที่มีกรรมการลาออก แล้วมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมเข้าไปให้มีวาระเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของ กรรมการชุดนั้น ๆ ... กรรมการจะดำรงตำแหน่งเกินกว่า 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ (พูดง่าย ๆ ก็คือห้ามเกิน 4 ปีติดต่อกัน) ยกเว้นจะหาคนมาเป็นกรรมการนิติฯ ไม่ได้

Q. คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นกรรมการนิติฯ

A. ตามมาตรา 37/1 มี ดังนี้
  1. เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย)
  2. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของเจ้าของร่วม
  3. ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวน 1 คน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม
Q. ลักษณะต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นกรรมการนิติฯ

A. ตามมาตรา 37/2

Q. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการนิติฯ

A. พ้นตามวาระ (มาตรา 37) หรือ ตามมาตรา 37/3
  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ขาดคุณสมบัติตาม 37/1 หรือ มีลักษณะต้องห้ามตาม 37/2
  4. ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง (คะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม)
Q. อำนาจหน้าที่ของกรรมการนิติบุคคลฯ

A. ตามมาตรา 38

Q. ที่มาของผู้จัดการนิติบุคคลฯ

A. ผู้จัดการนิติบุคคลฯ มี 2 กรณี คือ

  • ผู้จัดการตามมาตรา 35/2 คือ มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ (สามัญหรือวิสามัญ ก็ได้)  โดยได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 25% ของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด (มาตรา 49)
  • ผู้จัดการชั่วคราวตามมาตรา 38(2) คือ มาจากที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลฯ เลือก กรรมการ 1 คน มาทำหน้าที่ผู้จัดการนิติฯ เนื่องจากไม่สามารถเลือกผู้จัดการตามมาตรา 35/2 ได้
เจ้าของร่วมควรให้ความใส่ใจกับการประชุมสามัญหรือวิสามัญนะครับเพื่อให้คอนโด เดินหน้าบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Q. อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลฯ

A. ตามมาตรา 36

Q. หลักการในการนัดประชุมใหญ่

A. นัดประชุมให้ถูกต้องนะครับ รายละเอียดดังนี้

  • ประชุมใหญ่สามัญประจำปี : ต้องจัดปีละ 1 ครั้ง ภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของนิติบุคคลฯ และต้องมีวาระตามมาตรา 42/1
  • ประชุมใหญ่วิสามัญ :  จัดเมื่อไรก็ได้ตามมาตรา 42/2
  • การเรียกประชุมต้องทำเป็นหนังสือระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม เรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมรายละเอียดพอสมควร
  • ส่งให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุม
  • กรณีประชุมนัดแรกไม่ครบองค์ประชุมให้นัดใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันประชุมครั้งก่อน (ไม่สามารถประชุมนัดแรก กับ นัดสองในวันเดียวกันได้นะครับ) และในนัดสองนี้ก็ต้องแจ้งเจ้าของร่วมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุมเช่นเดียวกัน

Q. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่

A. ประชุมใหญ่นัดแรกคะแนนเสียงต้องไม่น้อยกว่า 25% ของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด(มาตรา 43)  ... ประชุมใหญ่นัดสองไม่ต้องนับคะแนน มีเท่าไรถือเป็นองค์ประชุม (มาตรา 43 วรรค 2)

Q. ประธานในที่ประชุมใหญ่

A. ผู้จัดการหรือคู่สมรสของผู้จัดการจะเป็นประธานในการประชุมใหญ่ไม่ได้ (มาตรา 43 วรรค 3)

Q. ใครเป็นผู้มีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

A. ตามมาตรา 42/2

Q. องค์ประชุมคณะกรรมการนิติฯ

A. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด (มาตรา 37/6)



บทความและเอกสารประกอบบทความเรื่องนี้ ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ห้ามผู้ใดนำไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต

Copyright 2014, Jaray Ratanapitak

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น