วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด (คอนโด)

สวัสดีครับ วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องคอมพิวเตอร์ มาเป็นเรื่อง คอนโด (ภาษากฎหมายเรียก อาคารชุด) กันบ้าง เพราะมีโอกาสเข้าไปช่วยงานในส่วนของการขอจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด (คอนโด) มาครับ

หลังจากมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือ ประชุมใหญ่วิสามัญ และมีการเลือกตั้ง กรรมการนิติบุคคล อาคารชุด ขึ้นมาใหม่ หรือเลือกเพิ่ม ไม่ว่าด้วยเหตุเพราะ

  • กรรมการชุดเก่าหมดวาระ (วาระ 2 ปี) หรือ 
  • กรรมการไม่พอ (ไม่ต่ำกว่า 3 แต่ไม่เกิน 9) หรือ
  • เจ้าของร่วมต้องการให้เลือกใหม่ทั้งหมด

เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ได้กรรมการชุดใหม่ ... ต้องจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด นี้ต่อเจ้าพนักงานกรมที่ดิน ที่อาคารชุดนั้นตั้งอยู่

การจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

ขั้นที่ 1 : เตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
  1. หนังสือนัดประชุมเจ้าของร่วมครั้งที่ 1
  2. หนังสือนัดประชุมเจ้าของร่วมครั้งที่ 2 (ถ้ามี) 
  3. หลักฐานการส่งหนังสือนัดประชุมทางไปรษณีย์ (นัดครั้งที่ 1) ... ใบเสร็จที่ออกให้จาก ปณ. 
  4. หลักฐานการส่งหนังสือนัดประชุมทางไปรษณีย์ (นัดครั้งที่ 2 ถ้ามี) ... ใบเสร็จที่ออกให้จาก ปณ. 
  5. บัญชีรายชื่อเจ้าของห้องชุด (เรียงตามลำดับเลขที่ห้องชุด) ระบุเลขห้องชุด อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ ลายมือชื่อผู้เข้าประชุม ต้องระบุด้วยว่าเข้าประชุมในฐานะเจ้าของร่วม หรือ ผู้รับมอบอำนาจ (มอบอำนาจได้ไม่เกิน 3 ห้องชุด)
  6. ใบลงคะแนน (ระบุเลขห้องชุด ชื่อเจ้าของห้องชุด และลงลายมือชื่อเจ้าของห้องชุดหรือผู้รับมอบฉันทะ)
  7. หนังสือมอบฉันทะ (สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบ กับ สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบ แนบมาด้วยหลังใบลงคะแนน)
  8. ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด (ไม่มีไม่เป็นไรเพราะส่วนใหญ่จะมีสำเนาอยู่ที่ สำนักงานที่ดิน อยู่แล้ว)
  9. ทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด (ไม่มีไม่เป็นไร สามารถแจ้งเจ้าพนักงานทีดินให้คัดสำเนา ที่สำนักงานที่ดิน ได้เลย)
  10. บันทึกถ้อยคำกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด (1 คนต่อ 1 ฉบับ) >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
  11. สำเนาบัตรประชาชน ของกรรมการนิติบุคคล แต่ละท่าน
  12. สำเนาทะเบียนบ้าน ของกรรมการนิติบุคคล แต่ละท่าน
  13. หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ของกรรมการนิติบุคคล แต่ละท่าน
  14. ทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส เป็นกรรมการ)
  15. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล)
  16. รายงานการประชุมครั้งที่ 1 >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
  17. รายงานการประชุมครั้งที่ 2 (ถ้ามี) >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
  18. รายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคล ในเรื่องการแต่งตั้ง ผู้จัดการนิติบุคคล >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
  19. หนังสือส่งตัวอย่างลายมือชื่อผู้จัดการนิติบุคคล อาคารชุด >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
  20. แบบฟอร์มการตรวจเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ >> หน้าที่ 1 :  หน้าที่ 2
  21. แบบฟอร์มการตรวจเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด >> ดูตัวอย่างได้ที่นี่
ขั้นที่ 2 : ให้ผู้จัดการนิติบุคคล อาคารชุด เซ็นรับรองเอกสาร (เอกสารบางเรื่องอาจมีหลายหน้า เช่น บัญชีรายชื่อเจ้าของห้องชุด ก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นทุกหน้า เซ็นเฉพาะหน้าแรก ก็ได้)

ขั้นที่ 3 : นำเอกสารทั้งหมดที่กล่าวมาใส่แฟ้มกระดาษ เจาะรู (ผมจำไม่ได้ละว่าเรียงอย่างไร เด๋วพนักงานที่ดินบอกคุณเอง)

ขั้นที่ 4 : นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งอาคารชุดตั้งอยู่ เช่น คอนโด อยู่เขตบางพลัด ก็จะอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย แจ้งเจ้าหน้าที่ออกบัตรคิวว่า "มาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการนิติบุคคล อาคารชุด และ จดผู้จัดการ" เจ้าหน้าที่จะได้ออกบัตรคิวให้ต่อเนื่องกัน) ถ้าเอกสารโดยรวมเรียบร้อยไม่มีอะไรผิดพลาด เจ้าพนักงานที่ดิน จะรับคำร้องขอจดทะเบียนเอาไว้ อ่อ เสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อยคอนโดที่ผมอยู่มี 589 ห้อง พกไป 1,000 บาท มีทอนกลับมา

*** ฉะนั้นวันไปสำนักงานที่ดินเตรียม แม็กเย็บกระดาษ , ที่เจาะรูกระดาษ , เครื่องคิดเลข , ปากกา ไปให้พร้อม ***

ขั้นที่ 5 : ใช้ระยะเวลาตรวจเอกสารประมาณ 7 วันทำการ (เอกสารต้องผ่านการตรวจสอบ หลายระดับ ครับ ไม่ใช่ยื่นปุ๊ปได้ปั๊ป วางแผนกันดี ดี)

ขั้นที่ 6 : เจ้าพนักงานที่ดินจะโทร.มาแจ้ง มี 2 กรณี คือ ผ่านมารับเอกสารการจดทะเบียนได้ หรือ ไม่ผ่านเพราะเอกสารไม่สมบูรณ์ ตรงไหน ต้องแก้ยังไง 

กรณี ผู้จัดการ นิติบุคคลฯ มอบฉันทะให้ผู้อื่นดำเนินการจดทะเบียนแทนจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการ และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นหลักฐานด้วย

หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้กับกรรมการฯ มือใหม่ในการเริ่มต้นงานแรกที่ต้องทำนะครับ ... คอนโดจะพัฒนา ได้ นอกจากได้กรรมการฯ ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความร่วมมือ ร่วมใจของ เจ้าของร่วมทุกคนครับ


บทความและเอกสารประกอบบทความเรื่องนี้ ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ห้ามผู้ใดนำไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต

Copyright 2014, Jaray Ratanapitak

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น