ลักษณะของภาษีอากรที่ดีประกอบไปด้วยหลักการ ดังนี้
1. หลักด้านความเป็นธรรม (Equity)
หลักความเป็นธรรม คือ การเก็บภาษีอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและเก็บตามกำลังความสามารถของผู้เสียภาษี โดยหลักของความเป็นธรรมนี้จะต้องเป็นธรรมและเสมอภาคกับผู้เสียภาษีทุกราย ซึ่งหลักความเป็นธรรมในทางทฤษฏีมี 2 แนวคิดคือ
1.1 หลักความเป็นธรรมสมบูรณ์ (Principle of Absolute Equity) ตามทฤษฏีนี้ถือว่าการเก็บภาษีที่ยุติธรรมนั้นคือการที่ทุกคนจะต้องเสียภาษีเท่ากัน ทฤษฏีนี้จะใช้ได้ดีถ้าผู้ต้องเสียภาษีทุกคนมีฐานะหรือรายได้เท่าเทียมกันแต่ในความเป็นจริงแล้วฐานะหรือรายได้ของคนในประเทศไม่เท่ากัน ดังนั้นหลักการนี้จึงใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ
1.2 หลักความเป็นธรรมสัมพันธ์ (Principle of Relative Equity) ทฤษฏีนี้คือการยึดหลักความสามารถในการเสียภาษี โดยถือว่าเป็นความยุติธรรมในการเสียมิได้เกิดจากการที่ทุกคนเสียภาษีเท่ากัน แต่ควรเกิดจากสัดส่วนแห่งผลประโยชน์ที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งจะนำมาสู่ความสามารถในการเสียภาษีของตน ที่เรียกว่าธรรมสัมพันธ์เพราะว่าได้มีการพิจารณาความเป็นธรรมโดยเอาการเสียภาษีไปสัมพันธ์กับประโยชน์ที่ได้รับหรือความสามารถในการเสียภาษีประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะว่าได้ถือหลักว่าบุคคลจะเสียภาษีเป็นธรรมหรือไม่นั้นไม่ได้พิจารณาจากจำนวนภาษีที่เขาเสียว่าเท่ากับคนอื่นหรือไม่ แต่ควรพิจารณาจากฐานะหรือผลประโยชน์ที่เขาได้รับ
2. หลักความแน่นอน (Certainty)
หลักความแน่นอน คือ การเก็บภาษีที่ดีจะต้องมีความแน่นอนชัดเจน รู้ว่าใครบ้างจะต้องเสียภาษี เสียเท่าไร เสียอย่างไร และอาศัยฐานอะไร ในอัตราเท่าไร และไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ
3. หลักความเป็นกลาง (Neutrality)
หลักความเป็นกลาง คือ ระบบภาษีอากรที่ดีจะต้องพยายามไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อรูปแบบการออม การบริโภค และการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการของประชาชน
4. หลักอำนวยรายได้ (Productivity)
หลักอำนวยรายได้ คือ ภาษีอากรที่ดีต้องสามารถทำรายได้ดี และเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้ ประชาชาติเพื่อสนองความต้องการในด้านการใช้จ่ายและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาษีอากรที่สามารถทำรายได้ดีต้องมีลักษณะอย่างน้อย 3 ประการ คือ ฐานภาษีกว้างเพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากโดยอัตราภาษีไม่สูงมากนักใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้าและใช้วิธีประเมินภาษีตามราคามูลค่าซึ่งจะทำให้รัฐบาลได้รับรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองโดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขอัตราภาษีบ่อยครั้งและกลไกในการบริหารการจัดเก็บของรัฐจะต้องมีประสิทธิภาพพอสมควร เพื่อให้ สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ตามเป้าหมาย
5. หลักความยืดหยุ่น (Flexibility)
หลักความยืดหยุ่น คือ ภาษีอากรที่ดีควรจะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจและสามารถที่จะทำรายได้ให้กับรัฐบาลในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้รายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นหรือลดลงเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ประชาชาติ (GDP) ดังนั้นภาษีอากรจึงทำหน้าที่ในการปรับอุปสงค์ รวม (aggregate demand) ให้เป็นไปโดยเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่าภาษีที่มีความยืดหยุ่นสูงจะเป็นเครื่องมือช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้ โดยตัวเอง (built – in – flexibility)
6. หลักประสิทธิภาพในการบริหาร (Administrative Efficiency)
หลักประสิทธิภาพในการบริหาร คือ ภาษีอากรที่ดีและมีประสิทธิภาพควรต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งจะพิจารณาจาก 2 ด้านด้วยกันก็คือ ทางด้านรัฐบาล และทางด้านประชาชนผู้เสียภาษี โดยทางด้านรัฐบาลควรพยายามจัดเก็บภาษีอากรที่เสียต้นทุนในการจัดเก็บต่ำและสามารถเก็บได้อย่างครบถ้วน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดเก็บ และทางด้านผู้เสียภาษีไม่ควรให้ผู้เสียภาษีอากรต้องมีภาระและต้นทุนในการเสียภาษีอากรสูง อันเป็นการช่วยยกระดับความสมัครใจในการเสียภาษีของผู้เสียภาษีให้สูงขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น